เลี้ยงลูกให้สุขภาพดีตั้งแต่เด็กๆ
ช่วงแรกเกิดจนถึง 6 ขวบ ถือว่าเป็นช่วงนาทีทองของการเลี้ยงดูลูกน้อย เนื่องจากเด็กจะจดจำข้อมูล เรื่องราวต่างๆ มากที่สุดในช่วงนี้ และพัฒนาการด้านต่างๆ จะอยู่ในช่วงนี้ที่ถือว่าสำคัญที่สุด ดังนั้นสุขภาพของลูกน้อยเป็นเรื่องสำคัญที่คุณแม่ต้องทุกคนให้ความใส่ใจ โดยเฉพาะเมื่อเด็กอายุ 3-5 ขวบ ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญในการวางรากฐานสุขภาพของลูก เพื่อให้ลูกเติบโตขึ้นมาแข็งแรงอย่างยั่งยืนด้วย
โดยการปลูกฝัง 3 สุขนิสัยสำคัญ ได้แก่ การกินอาหารให้หลากหลายเพิ่มผักผลไม้ เลือกดื่มน้ำเปล่า และขยันขยับ เคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้น พร้อมสร้างสรรค์ มื้ออาหารของฮีโร่ คือเครื่องมือที่ช่วยกระตุ้นการปรับเปลี่ยนและปลูกฝังพฤติกรรมที่พึงประสงค์ เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีสุขภาพแข็งแรงอย่างยั่งยืน
ศ.เกียรติคุณ ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ที่ปรึกษาอาวุโส สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ กล่าวว่า สถานการณ์สุขภาพของเด็กไทยตอนนี้นับว่าน่าเป็นห่วงมาก จากสถิติล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าร้อยละ 7-10 ของเด็กไทยมีน้ำหนักตัวน้อยกว่ามาตรฐาน ขณะที่ร้อยละ 12 มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน หรือเป็นโรคอ้วน แม้ว่าจะมีการริเริ่มโครงการต่างๆ มากมายออกมาเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการนมโรงเรียน โครงการอาหารกลางวันนักเรียน แต่ภาวะทุพโภชนาการในเด็กก็ยังคงอยู่ และทวีความรุนแรงขึ้นด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น ไทยยังเป็นหนึ่งในประเทศที่ติดอันดับการมีอัตราเพิ่มของคนเป็นโรคอ้วนมากขึ้นอย่างชัดเจน รากเหง้าของปัญหานี้คือสุขนิสัยต่างๆ ที่ไม่เหมาะสม เด็กๆ จำนวนมากรับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูงแต่มีคุณค่าทางโภชนาการต่ำ รับประทานผักผลไม้น้อย ดื่มน้ำเปล่าน้อยเกินไป และทำกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายเพียงวันละไม่เกิน 45-60 นาทีเท่านั้น วิธีการที่จะปลูกฝังให้เด็กมีสุขนิสัยที่ดีต่อสุขภาพสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยวิธีดังนี้
1.ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง พ่อแม่มีบทบาทสำคัญในการปลูกฝังสุขภาพให้ลูก วิธีการสอนลูกที่ดีที่สุดไม่ใช่แค่การสอนผ่านคำพูด แต่พ่อแม่ต้องทำให้ลูกดูเป็นตัวอย่างด้วย เช่น อยากให้ลูกประทานผักผลไม้ ดื่มน้ำเปล่า ออกกำลังกาย พ่อแม่เองก็ต้องมีพฤติกรรมแบบนั้นเช่นกัน ถ้าลูกเห็นว่าพ่อแม่คอยดูแลสุขภาพอยู่สม่ำเสมอ เขาก็จะมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมแบบนั้นเช่นกัน
2.ไม่ทำให้ผักเป็นเรื่องแปลก บางคนเวลาไปรับประทานอาหารนอกบ้านจะสั่งอาหารสำหรับเด็กโดยไม่ใส่ผัก วิธีนี้จะทำให้เด็กรู้สึกแปลกแยกกับผักไปโดยปริยาย ทุกมื้ออาหารควรมีอาหารที่มีผักและผลไม้หลากหลายเพื่อให้เด็กรู้สึก คุ้นเคย
3.ชวนลูกเข้าครัว ให้เจ้าตัวน้อยคอยเป็นลูกมือในการ เตรียมอาหาร ทำให้เขารู้สึกคุ้นเคยกับอาหารต่างๆ ในระหว่างการเตรียมอาหาร พ่อแม่อาจใช้ช่วงเวลานี้ในการสอนให้ลูกรู้จักคุณประโยชน์ของอาหารชนิดต่างๆ เมื่อลูกรู้จักอาหารมากขึ้น และยอมกินอาหารที่มีประโยชน์
4.ทำอาหารให้มีสีสันน่ารับประทาน พ่อแม่บางคนอาจจะคิดว่าอาหารที่ดีต่อสุขภาพต้องรสชาติไม่อร่อย หน้าตาไม่รับประทาน แท้จริงแล้วอาหารที่ดีต่อสุขภาพสามารถมีรสชาติที่อร่อย หน้าตาน่ารับประทาน และมีคุณค่าทางโภชนาการเพียบพร้อมได้ วิธีง่ายๆ เช่น การใช้ผักที่มีสีสันหลากหลาย เช่น พริกหวาน แครอต มะเขือเทศ มาประกอบอาหาร แม้กระทั่งการใช้น้ำอัญชันมาหุงข้าวให้มีสีสวยก็สามารถทำให้เด็กๆ ตื่นตาตื่นใจกับหน้าตาของอาหารและอยากรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น
5.ตั้งชื่ออาหารให้น่าตื่นเต้น ทำทุกมื้ออาหารให้น่า ตื่นเต้นสำหรับเด็กๆ มากขึ้นด้วยการตั้งชื่ออาหารใหม่ เช่น เปลี่ยนปลาทอด ที่อุดมด้วยโปรตีนเป็นเจ้าสมุทรขึ้นบก หรือเปลี่ยนราดหน้าสูตรธรรมดา ทำน้ำราดหน้าใหม่ให้ดีต่อ สุขภาพเด็กๆ โดยปรุงจากฟักทอง แครอต ข้าวโพด มะเขือเทศ และตั้งชื่อใหม่เป็นราดหน้าพระอาทิตย์
6.เปลี่ยนลูกเป็นเด็กสุขภาพดีใน 90 วัน ตามหลักพฤติกรรมศาสตร์แล้ว หากเด็กสามารถมีสุขนิสัยที่ดีต่อสุขภาพอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 90 วัน ก็จะมีแนวโน้มว่าเขาสามารถพัฒนาสุขนิสัยนั้นให้กลายเป็นพฤติกรรมได้ เพราะฉะนั้นการปลูกฝังสุขนิสัยที่ดีต่อสุขภาพนี้เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยเวลาและความทุ่มเทของพ่อแม่ และแม้จะผ่าน 90 วันไปแล้ว แต่พ่อแม่ก็ควรปลูกฝังสุขนิสัยที่ดีต่อสุขภาพเด็ก แบบนี้ต่อไป
ขอบคุณที่มาบทความ : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
ขอบคุณภาพประกอบ : www.thaihealth.or.th
|