ทันทีที่ "ลูกน้อย" ลืมตาดูโลก สิ่งที่ตามมาติด ๆ คือ ความกังวลจากภัย และอันตรายรอบด้านนับตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งเข้านอน โดยเฉพาะการนอนนั้น นับเป็นช่วงเวลาที่พ่อแม่จะเผอเรอไม่ได้เด็ดขาด เพราะแค่การนอนก็สามารถปลิดชีพลูกได้
เตือนภัยได้จาก รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หัว หน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างความปลอดภัย และป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวผ่านทีมงาน Life and Family ว่า ภัยจากการนอน เป็นภัยที่ลูกเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปี มีความเสี่ยงต่อภาวะขาดอากาศหายใจ โดยการติดค้างของศีรษะระหว่างเตียง หรือเบาะที่นอนได้สูง
นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการติดค้าง ของศีรษะกับช่องรูต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผนังเตียงด้านศีรษะ เท้า หรือช่องที่เกิดจากราวกันตก การตกเตียงลงบนกองผ้า ถังน้ำข้างเตียง การนอนคว่ำ ตลอดจนการถูกทับโดยผู้ใหญ่ที่นอนเตียงเดียวกันกับเด็ก
"บ้าน ที่มีลูกเล็ก มีเรื่องให้ต้องระวังอยู่หลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือการนอน เพราะเป็นช่วงที่ทุกคนต่างหลับใหล ในขณะที่ภัยร้ายคอยคุกคามลูกอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากเด็กเล็กยังไม่สามารถยกคอของตัวเองได้ดี เมื่อนอนคว่ำเอาหน้าจมกับเตียง เบาะ หรือเครื่องนอนต่าง ๆ ทำให้เด็กขาดอากาศหายใจได้ หรือบางคนให้ลูกนอนร่วมเตียงด้วย แต่ปรากฏว่าตัวเองเป็นคนหลับสนิท อาจนอนทับลูกได้" หัวหน้าศูนย์วิจัยฯ เตือนภัย
ดัง นั้น การนอนนับเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่จะประมาทเสียไม่ได้ เพราะเป็นช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยที่ไม่คาดคิดได้ง่าย โดยการจัดที่นอนให้ปลอดภัยลูกน้อยนั้น รศ.นพ.อดิศักดิ์ ให้แนวทางเป็นข้อ ๆ ดังนี้
- ทารกควรจัดให้นอนในท่านอนหงายเท่านั้น เนื่องจากการนอนคว่ำอาจเป็นอันตรายได้ เพราะเด็กทารกแรกเกิดยังตะแคงหน้า ยกศีรษะไม่เป็น แต่บางท่านกลัวศีรษะลูกแบนไม่สวย ดังนั้นการจับเด็กนอนคว่ำจึงทำได้เฉพาะในเวลาเด็กตื่น และมีผู้ดูแลเด็กเฝ้าดูอยู่ใกล้ชิดเท่านั้น
- ไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ นอนบนเตียงของผู้ใหญ่ เพราะในวัยนี้ยังตะแคง หรือพลิกตัวไม่เป็น ดังนั้นในยามที่นอนคว่ำหน้าจึงมีโอกาสเสียชีวิต เนื่องจากขาดอากาศหายใจได้สูง พ่อแม่ควรจัดให้นอนเตียงเด็ก (crib) หากไม่ใช้เตียงแนะนำให้ใช้เบาะเด็กที่แยกนอนจากเบาะที่นอนผู้ใหญ่ได้
- เบาะนอนที่เหมาะสม ต้องมีความแข็ง ไม่หนา และอ่อนนุ่มเกินไป เพราะเมื่อเด็กพลิกคว่ำแล้วอาจกดทับการหายใจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กอายุ 4-6 เดือนซึ่งคว่ำเองได้แต่หงายไม่ได้
- หมอนต้องไม่อ่อนนุ่ม และใบใหญ่เกินไป เพราะอาจกดทับใบหน้า และจมูกได้
- การจัดวางต้องไม่มีช่องว่างระหว่างเบาะกับกำแพงมากกว่า 6 เซนติเมตร ซึ่งอาจเกิดการติดค้างของศีรษะได้
- อย่าวางผ้าห่ม กองผ้าไว้ใกล้ศีรษะเด็ก ซึ่งอาจกดทับใบหน้า จมูกทำให้ขาดอากาศหายใจได้
สำหรับการใช้เตียงเด็กนั้น รศ.นพ.อดิศักดิ์ บอกว่า มีข้อกำหนดความปลอดภัยที่พ่อแม่ควรใส่ใจในการเลือกซื้อ ตามคุณลักษณะดังต่อไปนี้
- เตียงเด็กต้องมีราวกันตกที่มีซี่ราวห่างกันไม่เกิน 6 เซนติเมตร
- ราวกันตกต้องมีตัวยึดที่ดี เด็กไม่สามารถเหนี่ยวรั้งให้เคลื่อนไหวได้เอง
- เบาะที่นอนต้องพอดีกับเตียง และไม่มีช่องว่างระหว่างเบาะกับราวกันตก
- มุมเสาทั้ง 4 มุมต้องเรียบ มีส่วนนูนได้ไม่เกิน 1.5 มิลลิเมตร
- ผนังเตียงด้านศีรษะและเท้าต้องไม่มีการตัด ตกแต่งให้เกิดร่อง รู หากเป็นซี่ราวต้องมีระยะห่างไม่เกิน 6 เซนติเมตร
- เมื่อเด็กอายุ 2 ปี หรือสูงเกินกว่า 89 เซนติเมตรควรงดใช้เตียงเด็ก เพราะมีความเสี่ยงต่อการปีนราวกันตกและตกจากที่สูงได้
- สำหรับเตียงสองชั้น ไม่ให้เด็กอายุน้อยกว่า 6 ปี นอนชั้นบน เพราะเสี่ยงต่อการตกลงมาได้ง่าย ช่องห่างของราวกันตกต้องไม่กว้างกว่า 9 เซนติเมตร
ไม่เพียง เท่านี้ เชือกรัดปลอกหมอน โบว์ผูกเสื้อ หรืออื่น ๆ ที่เป็นเส้นสายที่มีความยาวเกินกว่า 15 เซนติเมตร ไม่ควรให้อยู่ใกล้ที่นอนเด็ก เพราะอาจเป็นเหตุให้เกิดการรัดคอเด็กได้ นอกจากนั้น ต้องไม่นำของเล่นชิ้นเล็ก หรือของเล่นประเภทอ่อนนิ่มตัวใหญ่ ซึ่งอาจตกทับกดการหายใจได้ หรือเป็นฐานการปีนป่ายของเด็กจนตกเตียงได้
"การ นอนของลูกน้อย เป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องใส่ใจในการจัดที่นอนให้ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นเตียง เบาะ หรือเครื่องนอนต่าง ๆ เช่น หมอน หรือหมอนข้าง ควรเลือกซื้อและเลือกใช้ให้ดี ถ้าไม่มีเลยจะปลอดภัยกว่า เพราะสามารถป้องกันเด็กพลิกตัวแล้วเอาหัวไปซุกกับหมอนจนขาดอากาศหายใจ และเสียชีวิตได้" รศ.นพ.อดิศักดิ์สรุป
บทความจาก ASTVผู้จัดการออนไลน์/life & family ฉบับวันที่ 16 พฤศจิกายน 2553